ปรัชญาของหลักสูตร

          หลักสูตรฯ มุ่งผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสตร์การจัดการผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อให้สามารถบุกเบิกแสวงหาความรู้ใหม่ในฐานะนักวิจัยอิสระ รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ เชื่อมโยง และบูรณาการศาสตร์ที่ตนเองเชี่ยวชาญกับศาสตร์อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้อย่างเหมาะสมกับสภาพบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชนในพื้นที่ภาคใต้

ความสำคัญ/หลักการและเหตุผล 

          การเปลี่ยนแปลงสังคมโลกระดับมหภาค ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีจากอดีตสู่ปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อองค์กรและการจัดการทุกระดับ รวมทั้งส่งผลต่อการแข่งขันและการแย่งชิงความได้เปรียบเพื่อความอยู่รอดของแต่ละองค์กรที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รุนแรงนั้น การจัดการภายในองค์กร จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งต้องนำหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากการวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการองค์กร ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรับมือและจัดการกับสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถขับเคลื่อนองค์กรให้มีศักยภาพทางด้านการแข่งขันได้อย่างมีดุลยภาพ

          คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นสถาบันแรกของภาคใต้ที่มีการจัดการเรียนการสอนด้านการจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตสู่สังคมตลอดถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศมาร่วม 40 ปีเศษ จากกระบวนการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิตในสองระดับดังกล่าว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงมีความพร้อมในการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับดุษฎีบัณฑิต เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการ ที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกระบวนวิธีการวิจัย สามารถตอบรับแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ที่มีการใช้ฐานคิดที่หลากหลายและสภาพการบริหารที่จำเป็นต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้จากทั้งภูมิปัญญาในสังคมไทยและองค์ความรู้จากต่างประเทศ เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล รวมทั้ง สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สอดรับกับบริบทของภาคใต้  

          การวางปรัชญาและเป้าหมายการผลิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการ ให้มีทักษะ ความรู้ความสามารถการจัดการบนพื้นฐานการทำวิจัยอย่างเป็นระบบ จึงถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญของคณะวิทยาการจัดการ เอกลักษณ์สำคัญของหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ คือ การที่คณะวิทยาการจัดการ มีการเรียนการสอนทั้งทางด้านการบริหารธุรกิจ และการบริหารภาครัฐ ทำให้เกิดการบูรณาการคณาจารย์ สื่อการเรียนการสอน องค์ความรู้ด้านการวิจัย รวมทั้งวิทยาการจัดการต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันให้นักศึกษาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการได้พัฒนางานวิจัยและผลงานวิชาการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทั้งภาคธุรกิจ หน่วยงานในภาครัฐ และองค์กรในชุมชนต่อไป

          ในการนี้ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความตระหนักถึงภาระหน้าที่จากการเป็นองค์ประกอบหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการร่วมกันขับเคลื่อนสถาบันให้บรรลุเป้าหมายดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยอาศัยศักยภาพและสั่งสมประสบการณ์เชิงวิชาการของคณาจารย์และนักศึกษาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในกระบวนการวิจัยด้านการจัดการอย่างลึกซึ้งและแม่นยำ สามารถแสวงหาและเข้าถึงองค์ความรู้ วิเคราะห์ประเด็นปัญหาสำคัญ รวมทั้งสามารถบุกเบิก ออกแบบ และดำเนินโครงการวิจัยในเรื่องที่มีความซับซ้อนในฐานะนักวิจัยอิสระ
  2. เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ ความเข้าใจเชิงลึกในทฤษฎีการจัดการ สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ อันเป็นที่ยอมรับในวงการด้านการจัดการ ทั้งในระดับชาติและระดับสากล
  3. เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และผู้บริหาร สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ ในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาองค์กรหรือหน่วยงานได้อย่างสอดรับกับบริบททางการเมืองเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชนตลอดถึงสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์

ปรัชญาการเรียนรู้ของหลักสูตร 

  1. เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ (Learning How to Learn) หมายถึง การช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจในที่มาและสมมุติฐานขององค์ความรู้ และวิธีการเข้าถึงองค์ความรู้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง (Self-directed Learning) อาจารย์มีหน้าที่หลักในการตั้งคำถามและท้าทายความคิดของนักศึกษาและกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใช้ระดับการคิดในชั้นสูง
  2. เน้นเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) โดยการใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) และการเรียนรู้โดยการบริการสังคม (Service Learning) ดังนั้น นักศึกษาจึงมีโอกาสลงมือปฏิบัติจริงในการสร้างเครื่องมือการวิจัย การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจริง การวิเคราะห์ข้อมูล ที่สำคัญ คือ ได้มีโอกาสการทำวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ภาคใต้ ผนวกเข้ากับความความสนใจของนักศึกษาเองด้วย
  3. การให้คำแนะนำและการกำกับดูแลโดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ (Apprenticeship) ที่มีความเชี่ยวชาญในหัวข้อการวิจัย เน้นทักษะการกระตุ้นทางปัญญา (Intellectual Stimulation) ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักศึกษา รวมทั้งนักศึกษามีโอกาสเรียนรู้ และ/หรือมีส่วนร่วมกับงานวิจัยหรือโครงงานวิจัยที่อาจารย์ที่ปรึกษากำลังทำอยู่ รวมทั้งมีโอกาสได้มาร่วมสอนในหลักสูตรอื่นๆ ของคณะด้วย
  4. การส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ทางวิชาการ (Academic Learning Environment) โดยสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการของคณะฯ เช่น Journal Club และการประชุมวิชาการ รวมทั้งเข้ารับฟังการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาท่านอื่นๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และมีความตื่นตัวทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง

กล่าวโดยรวม หลักสูตรฯ มีความพยายามที่จะพัฒนาและปรับปรุงเทคนิคการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษามีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) ซึ่งหมายถึงการที่นักศึกษาสามารถเป็นนักวิจัยอิสระที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต